พระไตรปิฎกออนไลน
Advertisement

บุรุษผู้รู้แจ้งเมื่อจะตามรักษาความจริง

ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

  • ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา(ความเชื่อ) เขากล่าวว่า ศรัทธาของเราอย่างนี้
  • ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ(รุจิ) เขากล่าวว่า ความชอบใจของเราอย่างนี้
  • ถ้าแม้บุรุษมีการฟังตามกัน(อนุสสวะ) เขากล่าวว่า การฟังตามกันของเราอย่างนี้
  • ถ้าแม้บุรุษมีความตรึกตามอาการ(อาการปริวิตักกะ) เขากล่าวว่า ความตรึกตามอาการของเราอย่างนี้
  • ถ้าแม้บุรุษมีความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ(ทิฏฐินิชฌานขันติ) เขากล่าวว่า ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิของเราอย่างนี้

ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ

แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า

การตรัสรู้สัจจะ[]

ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว

  • ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมสามประการ คือ
  1. ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ
  2. ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย
  3. ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
  • เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลง

ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลงครอบงำ

เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้ ไม่มีเลย

เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น ไม่มีเลย

สิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น 

พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย 

ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภ,ไม่ประทุษร้าย,ไม่หลงฉะนั้น 

ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด 

ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต 

ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด 

บัณฑิตพึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ โลภ,ประทุษร้าย,หลง แสดงไม่ได้โดยง่าย

ย่อมเห็นแจ้งชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลง
  • เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง
  • เขาเกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้
  • เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง
  • เขาเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม
  • ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้
  • เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง
  • เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อมเกิดฉันทะ
  • เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น
  • ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง
  • ครั้นเทียบเคียงแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่
  • ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา

การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ

การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

ธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ[]

(ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ มีเป็นลำดับไป ดังนี้ )

  • ความเพียรมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้งความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้
  • ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณา ก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณาจึงตั้งความเพียรได้
  • ความอุตสาหะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะจึงพิจารณาได้
  • ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึงอุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ
  • ธรรมที่ควรแก่การเพ่งมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรมทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การเพ่ง ฉันทะจึงเกิด
  • ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง
  • การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ ถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้น ก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญเนื้อความได้
  • การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึงฟังธรรม ก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้
  • การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึงเงี่ยโสตลง ก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้
  • การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้ ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลง
  • การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหา ก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้
  • ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา

อ้างอิง[]

Advertisement