พระไตรปิฎกออนไลน
Advertisement

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ละตะปูตรึงใจห้าประการ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจห้าประการ ภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในพระธรรมวินัยนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ตะปูตรึงใจห้าประการ ได้แก่

  1. สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา
  2. สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระธรรม
  3. สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์
  4. สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา
  5. เป็นผู้โกรธเคือง ไม่พอใจ มีจิตอันโทสะกระทบกระทั่ง มีใจดุจตะปูในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย

จิตของภิกษุที่มีตะปูตรึงใจ ดังบรรยายมาแล้วนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

เครื่องผูกพันใจห้าประการ ได้แก่

  1. เป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะเยอ ทะยานอยากในกาม
  2. เป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจาก ความทะเยอทะยานอยากในร่างกาย
  3. เป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะเยอทะยานอยากในรูป
  4. บริโภคอิ่มพอความประสงค์แล้ว ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอน ความสุขในความหลับอยู่
  5. ภิกษุจักประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อปรารถนาเทพนิกายอันใดอันหนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีลอันนี้ ด้วยข้อวัตรอันนี้ ด้วยตบะอันนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์อันนี้

จิตของภิกษุที่มีเครื่องผูกพันใจ ดังบรรยายมาแล้วนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น

ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ละตะปูตรึงใจห้าประการเหล่านี้ได้แล้ว ถอนเครื่องผูกพันใจห้าประการเหล่านี้ได้ดีแล้ว ภิกษุนั้นจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในพระธรรมวินัย ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

ภิกษุนั้นเจริญอิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร ๑ วิริยสมาธิปธานสังขาร ๑ จิตตสมาธิปธานสังขาร ๑ วิมังสาสมาธิปธานสังขาร ๑ และมีความขะมักเขม้นเป็นที่ ๕

ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๕ รวมทั้งความขะมักเขม้นอย่างนี้นั้นแล เป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่าย เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ เป็นผู้ควรแก่ การบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงเยี่ยม

อ้างอิง[]

Advertisement