พระไตรปิฎกออนไลน
Register
Advertisement

จอมปลวกนี้พ่นควันในกลางคืน ลุกโพลงในกลางวัน

พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงเอาศาตราไปขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นลิ่มสลัก จึงเรียนว่า ลิ่มสลักขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกลิ่มสลักขึ้นเอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นอึ่ง จึงเรียนว่า อึ่งขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกอึ่งขึ้น เอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลง ได้เห็นทางสองแพร่ง จึงเรียนว่า ทางสองแพร่ง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงก่นทางสองแพร่งเสีย เอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงเรียนว่า หม้อกรองน้ำด่าง ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้น เอาศาตราขุดลง.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเต่า จึงเรียนว่าเต่าขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะเจ้าจงยกเต่าขึ้น เอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงเรียนว่า เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงเรียนว่าชิ้นเนื้อ ขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงยกชิ้นเนื้อขึ้น เอาศาตราขุดดู.

สุเมธะเอาศาตราขุดลงไป ได้เห็นนาค จึงเรียนว่า นาคขอรับ.

พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า นาคจงอยู่ เจ้าอย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อม ต่อนาค

อุปมา[]

  • คำว่า จอมปลวกนั่นเป็นชื่อของกายนี้
    อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด
    เจริญด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา.
  • ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น
    ได้แก่ การที่บุคคลปรารภการงานในกลางวัน
    แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน.
  • ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าลุกโพลงในกลางวันนั้น
    ได้แก่ การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลางคืน
    แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน.
  • คำว่า พราหมณ์นั้น เป็นชื่อของพระพุทธองค์ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
  • คำว่า สุเมธะนั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ.
  • คำว่า ศาตรานั้น เป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ.
  • คำว่า จงขุดนั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร.
  • คำว่า ลิ่มสลักนั้น เป็นชื่อของอวิชชา.
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย.
  • คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ.
    คำนั้นมีอธิบาย ดังนี้ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย.
  • คำว่า ทางสองแพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา.
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตราก่นทางสองแพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมันเสีย.
  • คำว่า หม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ห้า คือ
  1. กามฉันทนิวรณ์
  2. พยาบาทนิวรณ์
  3. ถีนมิทธนิวรณ์
  4. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์
  5. วิจิกิจฉานิวรณ์
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ห้า เสีย จงขุดขึ้นเสีย.
  • คำว่า เต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ห้า คือ
  1. รูปูปาทานขันธ์
  2. เวทนูปาทานขันธ์
  3. สัญญูปาทานขันธ์
  4. สังขารูปาทานขันธ์
  5. วิญญาณูปาทานขันธ์
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ห้า เสีย จงขุดขึ้นเสีย.
  • คำว่า เขียงหั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณห้า คือ
  1. รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
  2. เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
  3. กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
  4. รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
  5. โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จงละกามคุณห้า เสีย จงขุดขึ้นเสีย.
  • คำว่าชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ.
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ ว่า
    พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย
  • คำว่านาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ
    คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า
    นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้.

อ้างอิง[]

Advertisement